กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease) สามารถเป็นได้กันทุกคน ไม่เว้นแม้แต่หญิงตั้งครรภ์ เพราะฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ทำให้หญิงตั้งท้องส่วนใหญ่มักจะต้องผชิญกับอาการกรดไหลย้อน แม้จะไม่เป็นอันตรายรุนแรง แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การศึกษาหาข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ จะช่วยบรรเทาอาการและลดความทรมาน ช่วยให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น
กรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์เกิดจากอะไร
กรดไหลย้อน เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณหลอดอาหารมีการคลายตัวที่ผิดปกติ ทำให้มีอาการแสบร้อนกลางอก เนื่องจากปกติทั่วไป อาหารที่เราทานทั่วไปจะผ่านหลอดอาหารไปสู่กระเพาะอาหาร โดยจะมีหูรูดบริเวณระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร หรือ LES (Lower esophageal sphincter) ทำหน้าที่ปิดไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลกลับมายังบริเวณหลอดอาหาร
กรณีแต่กรดไหลย้อนในหญิงตั้งครรภ์เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะฮอร์โมน Progesterone ส่งผลให้กล้ามเนื้อและหูรูดต่าง ๆ เกิดการขยายตัว รวมถึง LES ด้วย ทำให้ในช่วงท้องของหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่ายกว่าปกติ ยิ่งในช่วงที่ท้องไตรมาสที่ 2 และ 3 มดลูกจะยิ่งมีการขยายใหญ่มากขึ้น จนไปเบียดส่วนของกระเพาะให้รั้งขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าปกติ เมื่อทานอาหารปริมาณมาก หรือแม้แต่การเอนตัวลงนอนหลังทานอาหาร ก็จะรู้สึกเจ็บและแสบร้อนบริเวณหน้าอก เนื่องจากน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดได้ไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารนั่นเอง
สังเกตอย่างไรว่ามีภาวะกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์
อาการของโรคกรดไหลย้อนในหญิงตั้งครรภ์จะมีลักษณะเดียวกันกับโรคกรดไหลย้อนในบุคคลทั่วไป ดังนี้
- แสบร้อนบริเวณหน้าอกส่วนบน หรือบริเวณช่วงคอ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เจ็บคอ ไอบ่อย
- รู้สึกแน่นท้อง
- แน่นกลางหน้าอก
- หายใจไม่อิ่ม
- เรอบ่อย เรอเปรี้ยว หรือรู้สึกขมคอหลังจากตื่นนอน
- ระคายเคืองคอ เสียงแหบ
วิธีรับมือกรดไหลย้อนในคนท้องมีอะไรบ้าง
ระวังเรื่องการกิน
เพราะอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่เชื่อมโยงกับระบบย่อยอาหาร จนก่อให้เกิดอาการกรดไหลย้อน จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดเยอะ อาหารรสจัด อาหารย่อยยาก อาหารรสเปรี้ยว เช่น กระเทียม มะเขือเทศ หัวหอม กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต และอาหารไขมันสูง
แบ่งมื้ออาหาร
ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารมื้อหนัก ๆ แต่ให้แบ่งอาหารสำหรับทานเป็นมื้อเล็ก ๆ ประมาณ 5 – 6 มื้อ ได้แก่ อาหารมื้อเช้า อาหารว่าง อาหารมื้อเที่ยง อาหารว่าง อาหารมื้อเย็น และ อาหารว่าง โดยจะเห็นได้ว่า จะมีการจัดแบ่งเป็นอาหารว่าง ระหว่างมื้อหลัก ๆ ซึ่งอาหารว่างควรเป็นเพียงมื้อเล็ก ๆ อาจเป็นขนมชิ้นเล็ก ๆ หรือผลไม้ที่มีประโยชน์
กินช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด
ควรกินอาหารให้ช้า ๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด อย่าเร่งรีบในการกิน อย่าเคี้ยวเร็วเกินไป แม้จะเคยเป็นคนกินเร็วแค่ไหน ควรปรับพฤติกรรมให้เคี้ยวช้าลง และเคี้ยวให้ละเอียดมากขึ้น และควรนั่งหลังตรงขณะทานอาหาร เพื่อให้อาหารไหลลงสู่กระเพาะได้สะดวก
หลีกเลี่ยงกินอาหารก่อนนอน
ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารใกล้เวลาเข้านอนหรือกินก่อนนอน โดยควรกินอาหารก่อนที่จะเข้านอนให้มากกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อให้อาหารได้มีเวลาย่อยก่อนเอนตัวลงนอน เพื่อลดอาการกรดไหลย้อน
เดินออกกำลังกายหลังทานอาหาร
การเดินระยะสั้น ๆ หรือออกกำลังกายเบา ๆ จะช่วยกระตุ้นระบบการทำงานของลำไส้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้อาหารไหลผ่านกระเพาะและลำไส้สะดวก ลดอาการกรดไหลย้อน
สวมใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ
ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย ๆ หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าคับ หรือเสื้อผ้าที่กดรัดบริเวณกระเพาะอาหาร
นอนหัวสูง
ควรหาหมอนสำหรับผู้เป็นกรดไหลย้อนมาหนุนนอน เพราะหมอนประเภทนี้มีการออกแบบมาเพื่อแก้อาการกรดไหลย้อน ทำให้หมอนมีความสูงที่เหมาะสมต่อผู้เป็นโรคกรดไหลย้อน โดยหมอนสูงประมาณ 6 – 9 นิ้ว และควรนอนหันตะแคงด้านซ้าย เพื่อให้กระเพาะอาหารอยู่ต่ำกว่าหลอดอาหาร จะช่วยบรรเทาและลดอาการกรดไหลย้อนได้
กินผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ต
ควรหานมหรือโยเกิร์ตมาติดบ้านไว้ เพราะอาหารเหล่านี้เป็นมิตรที่ดีที่จะช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้
ควบคุมน้ำหนัก
ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์ที่เหมาะสม อย่าให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป โดยสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาวิธีควบคุมน้ำหนักและเกณฑ์ที่เหมาะสมกับตนเอง
คนท้องเป็นกรดไหลย้อนกินยาอะไรได้บ้าง
ยาลดอาการกรดไหลย้อนที่คนท้องสามารถทานได้ คือ
- Aluminum hydroxide magnesium hydroxide หรือ แอนตาซิล เยล เป็นต้น
- Calcium carbonate เช่น Gaviscon
- Simethicone เช่น Air-x
อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานยาลดกรดไหลย้อน เพื่อป้องกันความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่อาจแตกต่างกันไปตามรายบุคคล
อาการกรดไหลย้อนแบบไหนที่ควรปรึกษาแพทย์
- ถ่ายดำ
- กลืนลำบาก
- ไอรุนแรง
- อาเจียนเป็นเลือด
- น้ำหนักลดผิดปกติ
- เจ็บหน้าอกผิดปกติ