Written by 2:56 am เศรษฐกิจ, แนะนำ Views: 22

เช็กเลย การลงทุนแบบไหนที่ใช่สไตล์ตัวเรา

หลายคนที่เริ่มจะหันมาสนใจการลงทุน แต่ยังแน่ใจว่าจะลงทุนแบบไหนดี เพราะการลงทุนมีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบมีการตอบโจทย์เป้าหมายที่แตกต่างกันไป และยิ่งใครไม่เคยลงทุนมาก่อน ข้อมูล จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การรู้ว่าตัวเองเหมาะกับการลงทุนแนวไหน เพื่อจะได้ลงทุนให้เหมาะสมกับสไตล์ของตัวเอง ทำให้เรานำความสามารถมาใช้ในการลงทุนได้อย่างถูกทาง ไม่เสียเวลา ไม่ฝืนอะไรที่ไม่ใช่ตัวเอง ทำให้การลงทุนมีความสนุก และได้ผลลัพท์ที่ตรงใจมากกว่า วันนี้เราจึงชวนมารู้จักการลงทุนในแต่ละรูปแบบ และการลงทุนแบบไหนจะใช่สไตล์เรา 

1. การลงทุนแบบปัจจัยพื้นฐาน  (Fundamental Investing) 

การลงทุนแบบปัจจัยพื้นฐาน เป็นการลงทุนระยะยาว เหมาะกับผู้ที่ต้องการความมั่นคง และมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นการลงทุนกับองค์กรหรือบริษัทที่มั่นคง มีความน่าเชื่อถือ มีเครดิตมากพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าสามารถเติบโตได้อย่างมั่งคง และจะส่งผลให้นักลงทุนได้รับเงินปันผลหุ้นอย่างงอกงาม 

การเลือกบริษัทที่จะทำการลงทุน พิจารณาโดยการใช้หลัก “ปัจจัยพื้นฐาน” ขององค์กรนั้น ๆ ดังนี้ 

  1. ปัจจัยด้านคุณภาพ คือ โอกาสการเติบโตของบริษัท ความสามารถของผู้บริหาร การขยายสาขาขององค์กร แนวโน้มความต้องการของตลาด เป็นต้น 
  2. ปัจจัยด้านปริมาณ คือ งบการเงิน ซึ่งหมายถึง งบดุล งบกำไร-ขาดทุน งบกระแสเงินสด และ อัตราส่วนการเงินแบบต่าง ๆ 

นักลงทุนรูปแบบนี้จะมี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน ได้แก่ 

  1. VI (Value Investor) เป็นกลุ่มนักลงทุนที่ตัดสินใจเลือกซื้อหุ้นจากการใช้ “ปัจจัยด้านปริมาณ”  โดยคำนวณจาก Intrinsic Value หรือ มูลค่าที่แท้จริง คือ ซื้อเมื่อหุ้นราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และขายต่อเมื่อราคาตลาดสูงกว่าราคาที่แท้จริง 
  2. GI (Growth Investor) เป็นกลุ่มนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับ “ปัจจัยด้านคุณภาพ” โดยจะดูโอกาสการขยายกิจการ และอัตราการเติบโตของบริษัท ก่อนทำการซื้อ-ขายหุ้น เพราะใช้ความเชื่อมั่นในคุณภาพขององค์กรมากกว่ามูลค่าที่แท้จริง 

การลงทุนแบบปัจจัยพื้นฐานเหมาะกับใคร 

  1. ชอบลงทุนในระยะยาว 
  2. ต้องการผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ
  3. อดทนและมีเวลาศึกษาข้อมูลบริษัทอย่างละเอียด
  4. ใจเย็น ไม่หวั่นไหวต่อความผันผวนของราคาหุ้น
  5. ไม่ยึดติด สามารถเทขายได้เมื่อโอกาสเอื้ออำนวย หรือจำเป็นต้องขาย

2. การลงทุนแบบเทคนิค (Technical Investing) 

การลงทุนแบบเทคนิค จำเป็นต้องอาศัยความสามารถในการดูสถิติ ชอบคำนวณ หรือชื่นชอบในตัวเลข ดูกราฟเป็น มีเวลาในการดูกราฟบ่อย ๆ เพราะการลงทุนสายนี้จะวิเคราะห์ทุกอย่างจากตัวเลขที่กราฟ ดู Volume (ปริมาณการซื้อขาย) และ Trend (แนวโน้ม) เป็นหลัก ซึ่งหุ้นที่น่าสนใจสำหรับสายนี้ คือ หุ้นตัวที่มีแนวโน้มว่าจะดีดราคาสูงขึ้น และปริมาณซื้อขายในตลาดสูง ไม่ได้คำนึงถึง Fair Value หรือ ราคาที่แท้จริงของหุ้นตัวนั้น เป็นรูปแบบที่เน้น ซื้อมา – ขายไป 

นักลงทุนสายสายเทคนิค มีเครื่องมือช่วยวิเคราะห์แนวโน้มของหุ้น จำพวก Indicators หรือ Oscillators เครื่องมือวัดแความแกว่งตัว แสดงราคาขึ้น – ลง ความผันผวนของหุ้นตัวนั้น ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นำมาคำนวณเพื่อคาดการณ์ราคาหุ้นในอนาคต แล้วนำผลลัพท์ที่ได้มาประกอบการตัดสินใจซื้อหุ้นอีกที 

การลงทุนแบบเทคนิคเหมาะกับใคร 

  1. ชอบวิเคราะห์ ชอบตัวเลข และการคำนวณ 
  2. มีความสามารถในการดูสถิติ
  3. มีเวลาเฝ้าหน้าจอ เพราะกราฟเปลี่ยนทุกวัน
  4. ชอบเรียนรู้เครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อใช้ประกอบวิเคราะห์หุ้น 

3. การลงทุนแบบโมเมนตัม (Momentum Investing) 

การลงทุนแบบโมเมนตัม หรือ การลงทุนตามกระแสของเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ๆ ที่มีผลกับราคาหุ้น โดยนักลงทุนหุ้นสายนี้ จะใช้การคำนวณจากกระแสเงินทุน หรือ Fund flow ที่มีการไหลเข้าและไหลออก ตามปัจจัยทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์ต่าง ๆ ในตลาดโลก เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ค่าเงินอ่อนตัว ค่าเงินแข็งตัว ราคาทองคำ ภาวะสงคราม ภัยธรรมชาติ 

นักลงทุนสายนี้จะต้องทันโลก ทันเหตุการณ์ ติดตามข่าวเศรษฐกิจอยู่เสมอ และสามารถยอมรับความเสี่ยงสูงได้ โดยยึดเอากระแสทางเศรษฐกิจเป็นตัววิเคราะห์หลัก เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการเลือกลงทุนกับบริษัทที่มีอัตราการเติบโต และมีโอกาสขยายสาขาสูง 

การลงทุนแบบโมเมนตัมเหมาะกับใคร 

  1. ผู้ที่ทันโลก ทันข่าว ทันเหตุการณ์ 
  2. ผู้ที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจโลก รู้สึก รู้จริง 
  3. ชอบลงทุนเป็นรอบ ๆ ได้กำไรสูงในเวลาสั้น ๆ 
  4. พร้อมรับความเสี่ยงสูง และยอมรับความผันผวนได้ 

หวังว่าใน 3 รูปแบบการลงทุนนี้ สามารถเลือกได้ว่าแบบไหนที่ใช่ ที่เหมาะกับสไตล์คุณ แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง การลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ดีที่สุด คือ การศึกษาข้อมูลให้เข้าใจอย่างละเอียด ก่อนตัดสินใจลงทุน ติตตามข่าวสารเศรษฐกิจ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่เลือกไว้ ปรึกษาและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญที่ไว้ใจได้เป็นประจำ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยเป็นเกราะป้องกัน และสามารถเป็นนักลงทุนในสไตล์ที่ใช่แล้วค่ะ 

(Visited 22 times, 1 visits today)
Close