Written by 3:16 am บ้านและสวน, แนะนำ Views: 7

การเดินระบบไฟฟ้าภายในบ้านให้ปลอดภัย ควรเลือกเดินสายไฟในบ้านแบบไหนดี

การเดินระบบไฟฟ้าภายในบ้านให้ปลอดภัย ควรเลือกเดินสายไฟในบ้านแบบไหนดี และมีอุปกรณ์ช่วยเหลือด้านความปลอดภัยอะไรบ้าง ไปดูกัน คลิกเลย!

การติดตั้งระบบไฟภายในบ้าน ถือว่าเป็นงานเทคนิคที่ต้องอาศัยช่างผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าไฟฟ้าจะมีประโยชน์ในการใช้งานเป็นอย่างมาก แต่ก็สร้างความเสียหายได้อย่างมหาศาลเช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้นการเดินระบบไฟฟ้าภายในบ้านก็ได้มีการออกแบบเพื่อให้เจ้าของบ้านหรือผู้อยู่อาศัยสามารถดูแลและแก้ไขเบื้องต้นได้เองเช่นกัน 

ระบบไฟฟ้าภายในบ้าน

การวางระบบไฟฟ้าภายในบ้าน จะมีการแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ ๆ ด้วยกัน เพื่อให้เกิดความสวยงามตรงกับสไตล์ของบ้าน และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้อาศัยภายในบ้าน ได้แก่ 

1. ระบบเดินสายไฟแบบฝัง เพื่อจัดเก็บสายไฟ และระบบต่าง ๆ ให้เรียบร้อย สวยงาม โดยร้อยสายผ่านท่อสายไฟที่ฝังอยู่ในผนัง ซึ่งนิยมใช้กับบ้านที่มีลักษณะโมเดิร์น ต้องการความหรูหรา เน้นสวยงาม 

ข้อดีของการการเดินสายไฟแบบฝัง คือ มีความเรียบร้อย สวยงาม ปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่ว

ข้อเสียของการเดินสายไฟแบบฝัง คือ หากสายไฟเกิดชำรุดและอยู่ในจุดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ อาจทำให้เกิดอันตรายจากไฟรั่วได้ และเมื่อจำเป็นต้องตรวจสอบสายไฟหรือต้องซ่อมแซม จะทำได้ยาก อาจต้องทุบผนัง

2. ระบบการเดินไฟแบบลอย เดินสายไฟบ้านโดยยึดสายไฟให้ติดกับเสาหรือผนังที่เชื่อมต่อไปยังเต้ารับ รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยการปล่อยสายเปลือยเพื่อโชว์ดีไซน์ นิยมใช้กับบ้านสไตล์ลอฟท์ ที่เน้นโชว์ความเป็นธรรมชาติของตัวอาคาร 

ข้อดีของการเดินสายไฟแบบลอย คือ ราคาถูก มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สามารถตรวจสอบและซ่อมแซมได้ง่าย เมื่อสายไฟมีปัญหา 

ข้อเสียของการเดินสายไฟแบบลอย คือ อาจเกิดความไม่สวยงาม หากมีการใช้สายไฟจากเครื่องใช้ไฟฟ้ามากเกินไป ทำให้ดูรก ไม่เป็นระเบียบ และมีความเสี่ยงอันตรายต่อผู้ใช้งานจากกระแสไฟฟ้ารั่วได้ง่าย (แต่ปัจจุบัน การเดินสายไฟแบบลอยได้มีการร้อยสายไฟผ่านท่อ pvc หรือท่อเหล็ก เพื่อให้มีความเรียบร้อยและสวยงามกว่าเดิม)

อุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มความปลอดภัยภายในบ้าน

แม้ว่าการวางระบบไฟฟ้าภายในบ้าน จะเป็นเรื่องของเทคนิคที่ควรต้องใช้ช่างผู้ชำนาญ หรือผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านไฟฟ้าโดยตรงคอยดูแล แต่ผู้อาศัยหรือสมาชิกในบ้านก็ควรศึกษาและมีความรู้เรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ภายในบ้านอยู่บ้าง เพื่อใช้ไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย จากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ไฟรั่ว ไฟดูด ไฟช็อต และรู้แนวทางการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหา หรือต้องซ่อมบำรุงเบื้องต้น เช่น ไฟตก ไฟดับ รวมไปถึงการเตรียมวัสดุและการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ภายในบ้านให้เกิดความปลอดภัย 

เมนสวิตซ์ 

เมนสวิตซ์ หรือ สวิตซ์ประธาน คือ อุปกรณ์ปลดวงจรไฟฟ้าจากมิเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาภายในบ้าน เป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้ตัดวงจรไฟฟ้าทั้งหมดในบ้าน

เซอร์กิตเบรกเกอร์ 

เซอร์กิตเบรกเกอร์ เป็นสวิตซ์ตัดไฟอัตโนมัติ ใช้ตัดหรือต่อวงจรไฟฟ้าขณะใช้งาน และตัดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร หรือกระแสไฟฟ้าเกิน ทีอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้งานหรือผู้อาศัยในบ้าน โดยการเลือกเบรกเกอร์ใช้ในบ้าน ควรเลือกขนาดพิกัดที่สามารถตัดกระแสลัดวงจรของเบรกเกอร์ได้สูงกว่าชนาดกระแสลัดวงจรที่เกิดขึ้น การเลือกซื้อเบรกเกอร์จึงต้องมีความรู้ สามารถอ่านค่าต่าง ๆ ที่แนะนำได้ หรือขอคำแนะนำจาก บริษัทขายอุปกรณ์ไฟฟ้า

เครื่องตัดไฟรั่ว 

เครื่องตัดไฟรั่ว หรือ RCD (Residual Current Device) คือ เครื่องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ ตัดวงจรทันทีเมื่อกระแสไฟฟ้าไหลเข้าและออกไม่เท่ากันที่จำนวนหนึ่ง และอาจก่อให้เกิดการรั่วไหลไปยังวัตถุหรือผู้อาศัยในบ้าน จึงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันอันตรายจากไฟรั่ว ไฟดูด และอัคคีภัย มีการกำหนดค่ามาตรฐานการใช้งานที่ต่างกันออกไประหว่าง การใช้ภายในบ้าน ภายในอาคารขนาดใหญ่ และ โรงงานอุตสาหกรรม โดยเครื่องตัดไฟรั่วจะมี 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ 

  1. RCBO (Residual current circuit breaker with overcurrent protection) สามารถใช้ตัดวงจรในกรณี กระแสไฟฟ้ารั่ว กระแสไฟฟ้าเกิน และ ไฟฟ้าลัดวงจร 
  2. RCCB (Residual current circuit breaker) ใช้ตัดวงจรเฉพาะกรณีเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วอย่างเดียว จึงจำเป็นต้องติดตั้วร่วมกับเซอร์กิตเบรกเกอร์หรือฟิวส์เสมอ 
เซอร์กิตเบรกเกอร์

สายไฟฟ้า

สายไฟ คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ส่งพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟไปยังจุดรับตามบริเวณต่าง ๆ ภายในบ้าน ส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งานประมาณ 7 – 8 ปี แต่ถ้าหากพบว่าสายไฟมีสีเหลือง กรอบ หรือชำรุด ควรรีบเปลี่ยนสายไฟใหม่ทันที โดยไม่ต้องรอให้หมดอายุการใช้งาน เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจรที่อาจทำให้เกิดอัคคีภัย หรือกระแสไฟฟ้ารั่วที่เป็นอันตรายแก่ผู้ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยสายไฟสามารถจำแนกออกได้ 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ 

  1. สายไฟฟ้าแรงดันต่ำ 
  2. สายไฟฟ้าแรงดันสูง 

เต้ารับ หรือปลั๊กตัวเมีย 

อุปกรณ์ติดตั้งอยู่กับที่ สำหรับรองรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะติดตั้งอยู่กับผนังบ้านในตำแหน่งต่าง ๆ ที่ต้องการใช้งาน

ท่อเดินสายไฟและเคเบิล 

อุปกรณ์สำหรับรองรับสายเคเบิลและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องมีการนำส่งไฟฟ้าโดยเฉพาะ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย สวยงาม และทนต่อการใช้งานในทุกสถานที่ ทนแดดทนฝน โดยควรเลือกใช้งานให้เหมาะสมกับประเภทการใช้งาน เช่น ท่อโลหะที่ผลิตจากเหล็กกล้า ตรงขอบด้านในจะต้องไม่คม เพื่อความปลอดภัยในการร้อยสายไฟ หรือท่อ pvc ที่ควรมีความแข็งแรง แสามารถทนต่ออุณหภูมิสูงได้ และควรมีขนาดใหญ่รองรับจำนวนสายไฟที่ร้อยในแต่ละท่อได้ เป็นต้น 

สายดิน 

อุปกรณ์สำหรับเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า โดยปลายด้านหนึ่งของสายดินจะต่อเข้ากับวัตถุหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนปลายอีกด้านจะต่อลงดิน ซึ่งทำงานร่วมกับอุปกรณ์ป้องกันวงจรอื่น ๆ เช่น เบรกเกอร์ หรือ ฟิวส์ 

หลักดิน 

หลักดินทำหน้าที่กระจายประจุไฟฟ้าให้ไหลลงสู่พื้นดินได้สะดวก โดยจะมีลักษณะเป็นแผ่นโลหะ หรือแท่งทองแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 16 มม. และขนาดความยาวมาตรฐานไม่น้อยกว่า 2.40 ม. 

สายต่อหลักดิน 

สายต่อหลักดิน คือ สายที่ใช้ต่อระหว่างหลักดินกับนิวทรัล (ขั้วต่อสายศูนย์) หรือขั้วต่อสายดินในตู้เมนสวิตซ์ (แผงสวิตซ์ประธาน) เพื่อต่อระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าลงดิน 

การจะเลือกวางระบบไฟฟ้าแบบไหนดี อาจเลือกจากตำแหน่งที่ตั้งและลักษณะของบ้านเป็นหลัก และควรปรึกษากับช่างติดตั้งระบบไฟฟ้ามืออาชีพ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสมาชิกทุกคนในบ้าน และที่สำคัญ ควรเลือกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานรองรับ ช่วยให้อุ่นใจต่อการใช้งาน และลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้พลังงานไฟฟ้า

(Visited 7 times, 1 visits today)
Close