Written by 1:05 am กำลังมาแรง, ข่าวสาร, ธรรมชาติ, สุขภาพ, อาหาร, เราเลือกให้คุณ, แนะนำ, ไลฟ์สไตล์ Views: 23

7 วิธีลดขยะในชีวิตประจำวัน รักษ์โลกได้มากขึ้นในแบบที่ทุกคนก็ทำได้

ทุกวันนี้โลกของเราประสบปัญหาขยะล้นโลก ยิ่งจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ปริมาณขยะที่ถูกทิ้งจากคนทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แค่ในเพียงประเทศไทยก็มีการสร้างขยะรวม ๆ กันมากกว่า 27 ล้านตัน / ปี และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ปลายทางของขยะส่วนใหญ่มักจะไปจบที่หลุมฝังกลบ แต่ก็มีขยะอีกจำนวนไม่น้อยที่กำจัดด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีขยะเล็ดลอดลงสู่ทะเล มีสารอันตรายปนเปื้อนลงดินและแหล่งน้ำ รวมไปถึงการระเหยสู่ชั้นบรรยากาศจนกลายเป็นมลพิษ และเพิ่มก๊าซเรือนกระจก จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่เราเรียก สภาวะโลกร้อน

แต่ถ้าหากต้นเหตุแห่งปัญหา ซึ่งเป็นต้นทางของขยะที่มาจากพวกเราทุกคน ช่วยกันร่วมใจลดการสร้างขยะ และรู้จักการคัดแยกขยะที่บ้านให้ถูกต้อง กำจัดขยะบางชนิดได้อย่างถูกวิธี ด้วยการลดขยะตามแนวคิดแบบ 7R เพื่อลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้น ก็จะช่วยลดปริมาณขยะลงได้อย่างมหาศาล เป็น Sustainable life ดีต่อโลกและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน  

1. Refuse ปฏิเสธถุงพลาสติกและโฟม 

รู้ไหมว่า แค่เพียงพุงพลาสติกถุงเดียวจากการทิ้งของเรา ต้องใช้เวลาการย่อยสลายนานมากเป็น 400 – 500 ปี ชนิดที่เรียกว่า เราตายและเวียนมาเกิดหลายรอบแล้ว เจ้าถุงใบนั้นก็ยังคงค้างเติ่งอยู่ในโลกใบนี้อยู่เลย  แล้วเราก็ไม่ได้ทิ้งแค่ถุงใบเดียว มีหลายร้อย หลายพันชิ้นที่เราเป็นคนทิ้ง และขยะพลาสติกอีกหลายแสน หลายล้านชิ้นจากการทิ้งของคนทั่วโลก แค่ในประเทศไทยมีการทิ้งขยะพลาสติกต่าง ๆ รวมไปถึงขยะประเภทโฟม เฉลี่ย 7,000 ตัน / วัน เลยทีเดียว นี่เพียงแค่วันเดียวเท่านั้น หากคำนวนและนับต่อปี ขยะพลาสติกจากคนไทยทุกคนรวมกันจะมากมายมหาศาลแค่ไหน และด้วยที่ขยะพลาสติกส่วนใหญ่จะมีเม็ดปิโตรเลียมเป็นส่วนประกอบ ทำให้ไม่สามารถนำไปกำจัดด้วยการเผาได้ เพราะจะกลายเป็นไอระเหย สร้างมลพิษในชั้นบรรยากาศ หรือตกหล่นปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อสัตว์ทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่เราทุกคนที่เป็นมนุษย์ ดังนั้น เราควรเปลี่ยนมาพกถุงผ้า เพื่อลดการรับถุงพลาสติก และพกกล่องข้าว แก้วน้ำ ปิ่นโต เพื่อลดการใช้แก้วพลาสติกหรือกล่องโฟมบรรจุอาหาร และเลือกใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำ อย่าง ช้อนส้อม ตะเกียบ และหลอดดูด ที่ผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติแทน เมื่อลดการใช้พลาสติก จำนวนขยะย่อยสลายยากก็ลดลง และช่วยลดมลพิษ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเราทุกคนได้

2. Reuse 

Reuse เป็นวิธีที่ช่วยให้ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างคุ้มค่า ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาสีฟันให้หมดหลอด ใช้ปากกาจนหมดหมึก ใช้กระดาษให้หมดพื้นที่ทั้งสองหน้ากระดาษ หรือแม้แต่การดัดแปลง D I Y เปลี่ยนของเก่า หรือของที่ไม่ใช้แล้ว ให้เป็นของใหม่ ใช้ประโยชน์จริง เช่น การใช้ขวดน้ำสวย ๆ ทำเป็นแจกันดอกไม้ ใช้กระป๋องทำเป็นกระถางต้นไม้ ทำถุงผ้าจากเสื้อเก่า ๆ และอีกหลากหลายไอเดีย นอกจากจะช่วยลดขยะได้แล้ว ยังช่วยให้เราได้รู้จักการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และลดค่าใช้จ่าย เพราะไม่ต้องซื้อใหม่อีกด้วย 

3. Refill 

ลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ ด้วยการเลือกซื้อสินค้าที่เติมได้ แม้ว่าอาจจะหายากหน่อย แต่เดี๋ยวนี้เริ่มมีร้านค้า และแหล่งจำหน่ายสินค้าที่ให้บริการแบบเติมรีฟีล เพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก และลดการใช้ทรัพยากรอื่น ๆ ช่วยลดขยะ แถมยังประหยัดค่าผลิต แพ็กเก็จจิ้งของทางผู้ประกอบการ แล้วยังช่วยเซฟค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคได้มากกว่า 30% เลยทีเดียว เรียกว่า win win ทั้ง 2 ฝ่าย 

4. Recycle 

การที่จะนำขยะไปรีไซเคิลได้แบบ 100% ขยะที่มาจากต้นทางจะต้องผ่านการคัดแยกขยะเสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้น ขยะที่มีการกอง ๆ รวมกัน มักจะมีการปนเปื้อน ทำให้ขยะที่ควรนำไปรีไซเคิลได้ กลับต้องถูกนำไปฝังกลบแทน ซึ่งในแต่ละวันเจ้าหน้าที่ต้องเก็บขยะมากกว่า 9,000 ตัน และยังต้องใช้งบประมาณมากกว่า 2,000 ล้านบาท / ปี ในการจ้างพนักงานทำการแยกขยะ รวมไปถึงการฝังกลบด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเราทุกคนช่วยกันแยกขยะตั้งแต่ในบ้านของเราเอง ก่อนที่เจ้าหน้าที่เทศบาลจะมารับขยะไปกำจัดให้เหมาะสมที่ปลายทาง โดยแยกถุงขยะแต่ละประเภท และทิ้งขยะใส่ถังตามสีที่ส่วนกลางจัดไว้ให้ โดยเฉพาะ ขยะอินทรีย์ คือ ขยะที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น ใบไม้ เศษไม้ มูลสัตว์ ขยะเศษอาหาร เปลือกผลไม้ กากกาแฟ ก้างปลา กระดูกสัตว์ เปลือกกุ้ง ฯลฯ ที่เมื่อกองสุมอยู่รวมกัน จะเกิดกลิ่นเหม็นเน่าอย่างรุนแรง อันเป็นผลมาจากจุลินทรีย์กำลังย่อยสลายอินทรีย์สาร เหม็นไม่พอ ยังเรียกพวกมด หนู แมลงสาบ แมลงวัน แมลงหวี่ มารุมทึ้งตอมดม กินดื่มกันอย่างสำราญ และอาจทำให้กลายเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราให้เจ็บป่วย แถมยังทำให้ขยะอื่น ๆ ที่อาจนำไปรีไซเคิลได้ อย่างพวกพลาสติก กระดาษลัง ยาง ไม้ เมื่อเกิดการปนเปื้อนแบบนี้แล้ว ยิ่งเพิ่มความยากในการคัดแยกขยะ หรือไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ทำให้ต้องนำไปเผาหรือฝังกลบ เพิ่มมลพิษมากขึ้น แต่ปัจจุบันมีวิธีช่วยกำจัดขยะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 100% ด้วยนะ สามารถดูข้อมูลการจำกัดขยะอาหารได้ที่ Hass Thailand 

5. Repair 

Repair คือ การซ่อมแซมสิ่งของที่ยังสามาถทำได้ เพื่อให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ต่อได้โดยไม่ต้องซื้อใหม่ ลองหัดต่อ เติม เย็บ ปะ เพื่อซ่อมแซมสิ่งของแทนการซื้อใหม่ และการใช้ของอย่างทะนุถนอม เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ได้นานที่สุด ไม่ให้ข้าวของอุปกรณ์เครื่องใช้พังก่อนเวลา ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อเพิ่ม ลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองในการผลิตใหม่ 

6. Reduce 

Reduce คือ การลดการทรัพยากร ด้วยการลดใช้สิ่งต่าง ๆ ลง หรือใช้เท่าที่จำเป็น อย่างการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือสินค้าขนาดใหญ่ สามารถใช้ได้นาน แทนการซื้อสินค้าขนาดเล็กที่มีปริมาณน้อย ทำให้ต้องซื้อบ่อย ๆ เป็นการสิ้นเปลืองบรรจุภัณฑ์ และยังเพิ่มปริมาณขยะได้อย่างมหาศาล รวมไปถึงการใช้พลังงาน การใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น การเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศาฯ ตั้งเวลาปิดแอร์ก่อนตื่นนอนหรือก่อนเลิกใช้งานจริงอย่างน้อย 30 นาที การปิดไฟและถอดปลั๊กไฟที่ไม่จำเป็น เมื่อเลิกใช้งานอุปกรณ์ นอกจากจะช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงาน ยังช่วยลดค่าไฟได้อีกด้วยนะ 

7. Return 

การ Return คือ การหมุนเวียนนำมาใช้ใหม่ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งาน อย่างการคืนขวดน้ำอัดลม หรือบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ กลับไปสู่ผู้ผลิตเดิม เพื่อให้ผ่านการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการใช้แบบหมุนเวียน ทำให้ไม่ต้องมีการผลิตใหม่ ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณทรายและดินที่ใช้ในกระบวนการผลิตแก้ว หรือพลาสติกที่ถูกนำมาใช้เป็นแพ็เก็จจิ้งใส่สินค้าต่าง ๆ การรีเทิร์นยังช่วยปริมาณขยะได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว 

(Visited 23 times, 1 visits today)
Close